โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มหนองคาย

โดยซีพี เมื่อ 1 มี.ค.2554

โรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไปน้ำชุมชน CP-P 1,000 กำลังการผลิตที่ 4.5 ตันทลาย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย สามารถรองรับการผลิตปาล์มในพื้นที่ 1,500 -3,000 ไร่ ปัจจุบันเริ่มทำการรับซื้อปาล์มในพื้นที่และเป็นที่ตอบรับของเกษตรกรชาวสวนปาล์มชุมชนในพื้นที่ จ.หนองคายและ จังหวัดใกล้เคียง

สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุประเทศต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานจากถ่านหินที่นับวันจะหมดไป








ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆของโลก ในแต่ละปีมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่พัฒนาพลังงานทดแทนจากพืช และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านั้น เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างทางเลือกด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว การพัฒนาพืชพลังงานยังช่วยเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้ ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพชนิดหนึ่งของประเทศไทย ทั้งในด้านของผลตอบแทนต่อพื้นที่การผลิตและโอกาสในการพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ดังนั้นเมื่อปี 2547 รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 60,000 ไร่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนพืชเดิมที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าการลงทุน รวมทั้งรองรับการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงานในประเทศที่สูงขึ้นด้วย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ส่งเสริมจะอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มติดแม่โขงในเขตจังหวัดหนองคายประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า สวนปาล์มในหลายพื้นที่ของจังหวัดหนองคายที่อยู่ติดแม่น้ำโขงและมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยกับภาคใต้มีอัตราการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตใกล้เคียงกับสวนปาล์มในภาคใต้


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สวนปาล์มในจังหวัดหนองคายและหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มทยอยให้ผลผลิต อีกทั้งมีความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มในหลายจังหวัดที่มีสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม แต่เนื่องจากสวนปาล์มส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีขนาดเล็กและอยู่กระจายกระจัด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจเข้ามาตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่ ที่ผ่านมาชาวสวนปาล์มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องเสียค่าขนส่งทลายปาล์มไปจำหน่ายไกลถึงภาคตะวันออกและภาคใต้ อีกทั้งการขนส่งในระยะทางไกลทำให้เปอร์เซ็นต์ของกรด FFA สูงขึ้น เป็นเหตุให้ถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลางอีกด้วย


ดังนั้นเมื่อนายพิสิษฐ์ ฮามไสย์ หุ้นส่วนบริษัทรัตนอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด ได้ไปดูต้นแบบโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำ CP-P 1500 ที่ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมระหว่าง MTEC และบริษัทเกรท อะโกร จำกัด กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงสนใจที่จะซื้อเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มดังกล่าวมาดำเนินการติดตั้งในโรงงานที่อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ด้วยเชื่อว่านวัตกรรมดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบในพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มรอบโรงงานเฉลี่ย 1,500-3,000 ไร่ได้ อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากการขายปาล์มที่สูงขึ้นนอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถคัดเลือกปาล์มที่สุกแก่เต็มที่มาขายที่โรงงานสกัดปาล์มได้ทุกวันด้วยระยะทางการขนส่งที่ไม่ไกลจากแหล่งปลูกปาล์มมากนัก นับเป็นการปฏิรูปในการสร้างรูปแบบใหม่ของการซื้อ-ขายปาล์มในพื้นที่ปลูกใหม่สร้างความมั่นใจและพึงพอใจแก่เกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก





“ที่ผ่านมาชาวสวนปาล์มในภาคอีสานต้องเผชิญกับการกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อผลผลิตทุก 15 วัน โดยบางช่วงราคารับซื้อต่ำกว่าราคากลางถึง กก.ละ 1-2 บาท แต่เกษตรกรก็จำเป็นต้องขายโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เพราะไม่มีทางเลือก อีกทั้งยังการกำหนดรอบรับซื้อผลผลิตทุก 15 วันยังเป็นที่มาของปัญหาการตัดผลปาล์มดิบ หรือผลปาล์มไม่ได้คุณภาพที่เกิดขึ้น เพราะเกษตรกรไม่อยากเสียโอกาสจึงเลือกที่จะตัดผลปาล์มทันทีเมื่อถึงรอบการรับซื้อแม้ปาล์มจะยังดิบก็ตาม ในส่วนตัวคิดว่าการตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่จะช่วยลดปัญหาการตัดผลปาล์มดิบได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตมาส่งขายโรงงานได้ทุกวัน โดยบริษัทฯยังเพิ่มเกณฑ์การให้ราคารับซื้อตามคุณภาพของผลิตแทนการรับซื้อจากน้ำหนักรวมเหมือนที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าได้รับความร่วมมือและพอใจจากเกษตรกร” นางพะยอมกล่าว




นายสมพงษ์ บังทอง ชาวสวนปาล์มตำบลนาดง อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกๆของจังหวัดที่สนใจปลูกปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า เริ่มทำการปลูกปาล์มน้ำมันปี 2548 และค่อยๆขยายพื้นที่ปลูกจนกระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมด 80 ไร่





“สนใจที่จะปลูกปาล์มน้ำมันเพราะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยฯหนองคาย ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมเห็นว่า ปาล์มน้ำมันน่าจะเป็นพืชที่มีอนาคตอีกทั้งยังเป็นพืชที่ดูแลรักษาไม่ยาก ปลูกเพียง 3 ปีก็สามารถให้ผลตอบแทนได้แล้วจึงได้ตัดสินใจปลูก ปัจจุบันต้นปาล์มที่ปลูกไว้เริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว โดยเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาให้ผลผลิตเฉลี่ย 3-4 ตันต่อสัปดาห์ ส่วนหน้าฝนปีนี้คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 7-8 ตันต่อสัปดาห์” นายสมพงษ์


สำหรับช่องทางการขายนั้น นายสมพงษ์กล่าวว่า เดิมทีจะมีพ่อค้าคนกลางจากภาคตะวันออก หรือภาคใต้ขึ้นมารับซื้อทุก 15 วัน ซึ่งราคาเฉลี่ยประมาณ กก. 3-3.50 บาท แต่กรณีของเกษตรกรที่อยู่ไกลอาจจะราคาเพียง กก.ละ 1.50-2.00 บาทเท่านั้น จนกระทั่งบริษัทรัตนอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด ได้ตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มขึ้นที่อำเภอรัตนวาปี นอกจากจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ขายผลปาล์มได้ราคาสูงถึง กก.ละ 6-6.80 บาทแล้ว การมีโรงงานในพื้นที่ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บผลปาล์มสุกขายได้ทุกวันโดยไม่ต้องเร่งตัดผลปาล์มดิบให้ทันรอบการรับซื้อเหมือนที่ผ่านมาด้วย


“ตอนที่ยังไม่โรงสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่ เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 3,500-3,700 บาท แต่หลังจากมีโรงงานในพื้นที่แล้วเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยจากการเก็บผลปาล์มสูงถึงประมาณไร่ละ 6,800 บาท ในส่วนตัวเชื่อว่า ปาล์มน้ำมันเป็นน้ำมันบนดินที่ยังมีโอกาสและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งเขตที่ลุ่มในหลายพื้นที่ของภาคอีสานยังสามารถที่จะขยายพื้นที่ปลูกได้” นายสมพงษ์กล่าว




ด้านนายสมพงษ์ เพ็งไธสง เจ้าของสวนปาล์มขนาด 300 ไร่ในเขต ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สาเหตุที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพราะเชื่อมั่นว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีโอกาสทั้งในด้านของการผลิตเป็นพืชพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงได้ซื้อพันธุ์ปาล์มจากศูนย์วิจัยฯหนองคายมาปลูกพร้อมทั้งจัดทำระบบสปริงเกอร์ตลอดทั้งสวนตั้งแต่ปี 2549 ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการให้น้ำทำให้ต้นปาล์มมีการเจริญเติบโตดี โดยสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายปี 2552







“เดิมทีพ่อค้าคนกลางจะเข้ามารับซื้อผลผลิตที่อำเภอโซ่พิสัยทุก 15 วัน ราคาประมาณ 3-3.50 บาท หรือในบางช่วงราคาก็อาจจะต่ำลงไปอีก แต่เนื่องจากเป็นช่วงแรกที่ปาล์มของที่สวนให้ผลผลิต ทำให้ผลผลิตยังไม่มากพอจะขนไปจำหน่ายเอง จึงตัดสินใจขายกับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ แต่ปัจจุบันเมื่อมีโรงสกัดน้ำมันปาล์มที่อำเภอรัตนวาปี ทำให้ขายผลปาล์มสุกได้ราคาที่สูงขึ้น และยังสามารถขายได้ทุกวันอีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่ม เพราะเชื่อว่าผลผลิตปาล์มจะเป็นที่ต้องการและมีราคาที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน” นายสมพงษ์กล่าว



ศิริลักษณ์ /ศิริพร ข่าวและประชาสัมพันธ์
พนมกร ชาติไทย ภาพ
สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์
กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
089-1399801 และ 02-6758800 ต่อ 1540-1
Prcpcrop@hotmail.com / Pr.cpcrop@gmail.com
Facebook : www.facebook.com/cpcrop

4 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบ ที่ตั้งโรงงาน และ เบอร์โทรศัพท์ครับ

    ตอบลบ
  2. ทางเราต้องการทะลายปาล์ม และใยปาล์ม
    ต้องการ ขาย หรือ นำออกจากโรงงานติดต่อเราได้ค่ะ ต้องการปริมาณมาก 087-8161459 ศิวไลย ค่ะ

    ตอบลบ