ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนไร่ส้มเขียวหวาน




โดย http://www.gotoknow.org/posts/509171

ครั้งหนึ่งราวปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๑ จังหวัดกำแพงเพชรได้มีเกษตรกรชาวสวนส้มรังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้อพยพแหล่งปลูกส้มไปปลูกที่เขตจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่จะทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนามาเป็นสวนส้ม ซึ่งมีพื้นที่ปลูกส้มในขณะนั้นจำนวนหลายหมื่นไร่ แต่ปัจจุบันจะเหลือพื้นที่ปลูกส้มอยู่ไม่กี่ร้อยไร่ ส่วนใหญ่จะเลิกการทำสวนส้มไปในที่สุด เพราะว่าส้มเกิดเป็นโรค เกษตรกรขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินมากมาย มีเกษตรกรปรับพื้นที่จากร่องส้มเป็นพื้นที่ทำนาเหมือนเดิม แต่ก็จะมีเกษตรกรหัวไวใจสู้ส่วนหนึ่ง ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากไร่ส้ม โดยทำการปรับปรุงพื้นที่ที่ปลูกส้มเดิมเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมันแทน จะเป็นการตัดสินใจปลูกตามกระแสหรือไม่ น่าสนในที่จะต้องศึกษาข้อเท็จจริงว่ากำแพงเพชรจะเหมาะที่จะปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่ต้องติดตาม

จากการที่ทีมงานได้ลงไปศึกษาและเยี่ยมเยียนเกษตรกรที่ชื่อคุณชัยชนะ ชื่นสำอางค์ อยู่บ้านเลขที่ ๙๕ หมู่ที่๖ (บ้านทุ่งสนุ่น) ตำบลระหาร อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร(เมื่อวันที่๑๔ พย๕๕)โดยได้เล่าให้ทีมงานได้ฟังว่า ตนเองได้ทำการทดลองปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน ๔0ไร่ โดยทำการปรับปรุงจากร่องส้มเดิมมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งใช้ระยะปลูกคือระยะห่างระหว่างแถว กว้าง ๙ เมตรและระยะห่างระหว่างต้น ๙ เมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา โดยทำการปลูกบนสันร่องกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ร่องน้ำกว้างประมาณ ๑ เมตรเศษ ทำการปล่อยน้ำจากคลองชลประทานวังบัวเข้าร่องที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเลี้ยงน้ำไว้ในร่องตลอดเวลา ขณะนี้ต้นปาล์มน้ำมัน อายุ ๓ ปี ๔ เดือน ซึ่งปัจจุบันทยอยเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมัน ไปหลายครั้งแล้วพันธุ์ที่ใช้ปลูก ได้แก่ พันธุ์เดลิ-คอมแพค และพันธุ์เดลิ-ไนจีเรีย

คุณชัยชนะ ชื่นสำอางค์ ยังได้เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า จากการสังเกตทลายปาล์มเมื่อนำไปชั่งดู จะหนักประมาณ ๒0กิโลกรัมเศษ ต่อหนึ่งทลาย หากจะประมาณผลผลิตน้ำหนักของผลปาล์ม จะได้ประมาณ ไร่ละเกือบถึง๓ ตันต่อครั้ง เป็นที่น่าพอใจ เมื่อไม่นานมานี้มีผู้แทนบริษัทเอกชนจากประเทศออสตาริกา มาดูแปลงปลูกปาล์มน้ำมันของตนเอง ซึ่งเขาได้บอกว่า พอใจในการเจริญเติบโตของต้นปาล์มของคุณชัยชนะ และมีการจัดการแปลงปลูกปาล์มคล้ายกับสวนปาล์มของเกษตรกรในประเทศมาเลเซีย

จากนั้นคุณชัยชนะ ก็ได้นำทีมงาน ลงไปเยี่ยมแปลงปลูกปาล์มน้ำมัน พร้อมกับได้เล่าถึงวิธีการปลูก ปาล์มน้ำมันเริ่มตั้งแต่การปรับเตรียมพื้นที่ปลูก การคัดเลือกต้นพันธุ์ปาล์มมาปลูก วิธีการปลูก การดูแลรักษา ทั้งการให้ปุ๋ย การให้ฮอร์โมนจากปลา ตลอดจนการให้น้ำโดยวิธีการใช้เรือรดน้ำ ซึ่งเคยใช้กับสวนส้มมาแล้วครั้งหนึ่ง
สำหรับการเก็บเกี่ยวตนเองได้ตั้งจุดรวมเพื่อรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกำหนดรับซื้อทุกวันที่ ๒0-๒๑ ของทุกเดือน ในหนึ่งเที่ยวรถบรรทุกก็จะบรรทุกได้ประมาณ ครั้งละ ๓0 ตัน เพื่อนำส่งต่อไปยังโรงงานน้ำมันปาล์มที่จังหวัดชลบุรี

ขณะที่ทีมงาน ได้พูดคุยกับคุณชัยชนะ ชืนสำอางค์ พร้อมได้ลงไปดูแปลงปลูกปาล์ม ก็ทึ่งเหมือนกันว่า ต้นปาล์มมีการเจริญเติบโตดีกว่าในเขตพื้นที่นอกเขตชลประทาน และได้พบข้อสังเกตว่า พันธุ์ปาล์มก็มีส่วนสำคัญอยู่มากที่เกษตรกรที่จะตัดสินใจปลูกปาล์มจะต้องรู้ลักษณะประจำพันธุ์ว่าแต่ละสายพันธุ์เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ปลูกลักษณะของเนื้อดินเป็นดินชุดอะไรและ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือแหล่งน้ำนั่นเองต้องสมบูรณ์เพียงพอ นั่นเอง ทั้งก็จะต้องเข้าใจของการบริหารจัดการแปลงอย่างถูกต้องควบคู่กันไปด้วยครับ

เขียวมรกต ๑๘ พย.๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น